วันพุธที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2557

ประโยชน์ของการเลิกบุหรี่

1. การหยุดสูบบุหรี่เป็นผลดีต่อสุขภาพอย่างมาก และเป็นผลดีที่เกิดทันทีที่เลิกบุหรี่ทั้งในเพศชายและหญิง ไม่ว่าจะป่วยจากโรคจากการสูบบุหรี่แล้วหรือไม่ก็ตาม
2. ผู้ที่เลิกบุหรี่จะมีอายุยาวกว่าผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไปโดยผู้ที่เลิกบุหรี่ก่อนอายุ 50 ปี จะมีโอกาสเสียชีวิตเพียงครึ่งหนึ่งของผู้ที่ยังสูบต่อ
3. การเลิกบุหรี่จะลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอด มะเร็งระบบอื่นๆหัวใจวายกะทันหัน เส้นเลือดสมองตีบตันกะทันหัน โรคถุงลมโป่งพองและโรคปอดเรื้อรังอื่นๆ
4. ผู้หญิงที่หยุดสูบบุหรี่ก่อนตั้งครรภ์หรือระหว่าง 3-4 เดือนแรกของการตั้งครรภ์จะลดความเสี่ยงที่ลูกจะมีน้ำหนักแรกคลอดน้อยกว่าปกติ
5. ผลดีต่อสุขภาพจากการหยุดสูบบุหรี่มีมาก น้ำหนักเพิ่มขึ้น ซึ่งจะเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 2.3กิโลกรัม
6. ความเสี่ยงของการเสียชีวิตจะลดลงอย่างรวดเร็วเมื่อหยุดสูบบุหรี่



การหยุดสูบบุหรี่กับการเกิดมะเร็งทางเดินหายใจ

1. การหยุดสูบบุหรี่ลดอัตราการเกิดมะเร็งปอดเมื่อเทียบกับผู้ที่ยังคงสูบบุหรี่ต่อไป โดยพบว่าหลังหยุดสูบบุหรี่ 10ปี ความเสียงของการเกิดมะเร็งปอดจะเท่ากับร้อยละ30-50ของผู้ที่ยังสูบต่อไป
2. การลดอัตราเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปอดในผู้ที่หยุดสูบบุหรี่ พบทั้งชายและหญิง ทั้งผู้ที่สูบบุหรี่ธรรมดาและบุหรี่ก้นกรอง
3. การหยุดสูบบุหรี่ลดอัตราการเกิดมะเร็งที่คอ และกล่องเสียง
4. การหยุดสูบบุหรี่ ลดความผิดปกติที่จะกลายเป็นมะเร็งระยะแรกของเยื่อบุลำคอ กล่องเสียงและปอด

การหยุดสูบบุหรี่กับการเกิดมะเร็งระบบอื่นๆ

1. หลังจากหยุดสูบบุหรี่ 5 ปี อัตราเสี่ยงของการเกิดมะเร็งช่องปากและหลอดอาหารส่วนต้นจะลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเทียบกับคนที่สูบต่อ และอัตราเสี่ยงยังคงลดลงต่อไปหลังจากหยุดสูบเกิน 5 ปี
2. การหยุดสูบบุหรี่ลดอัตราการเกิดมะเร็งตับอ่อน การลดนี้จะพบเมื่อหยุดบุหรี่มากกว่า 10 ปีขึ้นไป
3. อัตราเสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูกลดลงอย่างมากในหญิงที่เลิกบุหรี่ แม้ว่าจะหยุดเพียง 2-3 ปี



การหยุดสูบบุหรี่กับการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด

1. การหยุดสูบบุหรี่จะลดอัตราการเกิดโรคเส้นเลือดหัวใจตีบลงได้ครึ่งหนึ่งหลังจากหยุดสูบได้ 1 ปีและจะลดลงอย่างช้าๆต่อไป หลังจากหยุด 15 ปีความเสี่ยงจะเหมือนผู้ที่ไม่ได้สูบบุหรี่
2. ในผู้ที่ได้รับการวินิจฉัยว่าเส้นเลือดหัวใจตีบ การหยุดสูบบุหรี่ การหยุดบุหรี่จะลดโอกาสของการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย และโอกาสการเสียชีวิตกะทันหันอย่างมาก รายงานการวิจัยพบว่าโอกาสเสียชีวิตก่อนวัยอันควรลดลงถึงร้อยละ 50
3. การหยุดสูบบุหรี่จะลดโอกาสการตีบตันของหลอดเลือดส่วนอื่นๆของร่างกาย เช่นเส้นเลือดตีบตันที่ขา
4. การหยุดสูบบุหรี่ลดความเสี่ยงของการเกิดลมปัจจุบันจากเส้นเลือดสมองตีบและแตก ความเสี่ยงนี้จะลดลงเท่ากับผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่ภายในเวลา 5 ปีแต่บางรายอาจต้องใช้เวลาถึง 15 ปีความเสียงจึงลดลงเหมือนผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่

การหยุดสูบบุหรี่กับโรคปอดชนิดอื่นๆ

1. การหยุดสูบบุหรี่จะลดอาการไอ ลดจำนวนเสมหะ ลดอาการหายใจเสียงหวีด ลดการติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบและปอดบวม
2. ในผู้ที่ยังไม่เป็นถุงลมโป่งพอง การหยุดสูบบุหรี่จะทำให้สมรรถภาพปอดดีขึ้นร้อยละ5ภายใน2-3เดือนหลังเลิกบุหรี่
3. ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่อย่างถาวร อัตราการเสียชีวิตจากโรคถุงลมโป่งพองลดลงเมื่อเทียบกับผู้ที่สูบต่อ

การหยุดสูบบุหรี่และการเปลี่ยนแปลงของน้ำหนักตัว

1. น้ำหนักตัวเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 2.3 กิโลกรัมซึ่งไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีเพียงร้อยละ 3.5ที่น้ำหนักเพิ่มกว่า 9 กิโลกรัม สาเหตุที่เพิ่มเกิดจากการรับประทานอาหารมากเกินไป
2. การออกกำลังกายสม่ำเสมอ รับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคโดยลดไขมัน อาหารทอดจะทำให้คุมน้ำหนักได้

การหยุดสูบบุหรี่และการเจริญพันธุ์

1. หญิงที่หยุดสูบบุหรี่ก่อนการตั้งครรภ์จะให้กำเนิดบุตรที่มีน้ำหนักใกล้เคียงเด็กปกติ
2. ถึงแม้จะมีการลดจำนวนบุหรี่ระหว่างการตั้งครรภ์ บุตรที่คลอดออกมาก็จะมีน้ำหนักตัวน้อยเหมือนกับผู้ที่ไม่ได้ลดจำนวนบุหรี่ลง
3. การสูบบุหรี่จะทำให้ประจำเดือนหมดเร็วขึ้น 1-2 ปี

การเปลี่ยนแปลงด้านจิตใจและพฤติกรรมหลังการหยุดสูบบุหรี่

1. ในระยะแรกของการหยุดสูบบุหรี่มักจะมีความกังวล หงุดหงิดอารมณ์ร้อน โกรธง่าย ไม่มีสมาธิ อยากอาหารมาก มีความอยากสูบบุหรี่ตลอดเวลา อาการเหล่านี้จะหายไปในระยะเวลาอันสั้น แต่ความรู้สึกอยากบุหรี่และความรู้สึกว่ารสชาติอาหารดีขึ้นจะยังคงอยู่ต่อไประยะหนึ่ง
2. ในระยะแรกของการหยุดสูบบุหรี่ สมรรถภาพของการทำงานง่ายๆหลายชนิดที่ต้องใช้สมาธิจะลดลงเป็นเวลาสั้นๆ แต่ไม่พบความผิดปกติของความจำ และความสามารถในการเรียนรู้ และการทำงานที่ใช้ความสามารถสูงๆอื่นๆภายหลังสูบบุหรี่
3. เมื่อเทียบระหว่างผู้ที่ยังสูบบุหรี่กับผู้ที่หยุดแล้ว พบว่าผู้ที่หยุดสูบมีความมั่นใจในตัวเองสูงกว่า และควบคุมตัวเองได้ดีกว่า

4. ผู้ที่หยุดสูบบุหรี่แล้วมีพฤติกรรมส่งเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคอื่นๆมากกว่าผู้ที่ยังสูบบุหรี่ต่อไป

วิธีเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง

โดยส่วนใหญ่ ผู้ที่เลิกบุหรี่ได้ เลิกได้ด้วยตัวเองโดยไม่จำเป็นต้องใช้ยา หรือสารนิโคตินแทนบุหรี่ การใช้สารนิโคตินทดแทนมิได้หมายความว่าจะสามารถเลิกบุหรี่ได้ทุกคน ความตั้งใจจริง กำลังใจการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง การลดความเครียดช่วงที่อยากบุหรี่ ลดอาการอยากบุหรี่ เบี่ยงเบนความสนใจความอยากบุหรี่ได้



วิธีที่ผู้เลิกสูบบุหรี่ได้สำเร็จแนะนำคือ

1. เตรียมตัว ตั้งใจแน่วแน่ ว่าต้องเลิกบุหรี่ด้วยตัวเอง เตรียมความพร้อมทังร่างกายและจิตใจ
•              ให้จดบันทึกเวลาและเหตุผลการสูบบุหรี่ จดเหตุการณ์ที่ทำให้อยากสูบบุหรี่ เช่นการดื่มสุรา กาแฟ สูบขณะขับรถ
•              เปลี่ยนพฤติกรรม เช่นเก็บบุหรี่ไว้อีกที่หนึ่ง ใช้มืออีกข้างสูบแทน ขณะสูบบุหรี่ไม่ต้องทำอะไรให้นึกว่าทำไมถึงสูบ
•              ให้สูบนอกอาคาร
•              เมื่ออยากสูบบุหรี่ให้รอสัก2-3 นาทีคิดเรื่องอื่นเพื่อเปลี่ยนความสนใจหรือเคี้ยวหมากฝรั่งและดื่มน้ำมากๆ
•              ซื้อบุหรี่ครั้งละซองและซื้อชนิดที่ไม่เคยสูบ

2. กำหนดวัน"ปลอดบุหรี่"ของตนเองอาจจะเป็นวันสำคัญทางศาสนา วันเกิดของตนเอง หรือบุตร-ภรรยา ไม่ควรเลือกช่วงที่เครียด ควรหาใครบางคนรับรู้และคอยช่วยเหลือ

3. แจ้งแก่คนในครอบครัว ที่ทำงาน นายจ้าง เพื่อนสนิท เพื่อนร่วมงาน เพื่อให้กำลังใจเป็นแรงสนับสนุนให้เลิกได้สำเร็จ

4. เมื่อถึงวันสำคัญ ที่กำหนดแล้วว่า"วันปลอดบุหรี่"ให้หยุดเลย

•              ทิ้งบุหรี่และอุปกรณ์ทั้งหมด เพื่อไม่ให้สิ่งเหล่านั้นมากระตุ้นให้อยากบุหรี่อีก
•              เปลี่ยนพฤติกรรม เช่นไม่ดื่มกาแฟ
•              ให้งดสุรา กาแฟ อาหารรสจัด ละเว้นการรับประทานอาหารให้อิ่มจนเกินไป
•              ไม่ควรนั่งที่โต๊ะอาหารนานเกินไป เพราะหลังอาหารทุกมื้อจะอยากบุหรี่อีก
•              ควรดื่มน้ำผลไม้ เช่นน้ำส้ม น้ำมะนาว เพราะความเป็นกรดจะชะล้างนิโคตินออกไป
•              เมื่ออยากสูบบุหรี่ให้หางานอย่างอื่นทำ เคียวหมากฝรั่ง หรือไปในที่ๆสูบบุหรี่ไม่ได้ เช่นโรงหนัง รถเมล์ ขี่จักรยาน เดินเล่น โทรคุยกับเพื่อน
•              ให้รางวัลตัวเองเมื่ออดบุหรี่ได้โดยไปดูหนัง

5. เมื่อเริ่มเลิกบุหรี่ได้แล้ว

•              ในช่วงแรกที่อดบุหรี่อาจจะรู้สึกหงุดหงิด ให้สูดหายใจเข้าออกลึกๆ ดื่มน้ำมากๆเพื่อลดความอยากหรืออาจจะอาบน้ำถ้าเป็นไปได้
•              ออกกำลังกายสม่ำเสมอ หางานอดิเรกทำเพื่อคลายเครียด เพราะส่วนใหญ่หลังเลิกบุหรี่ น้ำหนักตัวจะเพิ่มขึ้น การออกกำลังกาย การควบคุมอาหาร อดอาหารหวาน ลดอาหารไขมัน จะเป็นการคุมน้ำหนักได้อีกทางหนึ่ง
•              ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำประจำตอนสูบบุหรี่ เลี่ยงสถานการณ์ สถานที่ที่เคยสูบบุหรี่เป็นประจำ
•              ฝึกปฏิเสธ ซ้อมพูดกับตัวเอง เพื่อนฝูง"ไม่ครับ" "ผมไม่สูบ""นายแน่มากที่เลิกสูบบุหรี่ได้"
•              ให้นึกถึงสิ่งที่ดีๆเมื่ออดบุหรี่ได้
•              เมื่อเกิดความเครียดหรือปัญหาให้หาทางแก้ไขและบอกตัวเองว่าบุหรี่ไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อีกต่อไปแล้ว
•              หยอดกระปุกให้ลูกเมื่อไม่ได้สูบบุหรี่
•              หากท่านล้มเหลวครั้งแรกให้พยายามใหม่ มีหลายคนที่สามารถประสบผลสำเร็จเมื่อมีความพยายาม
•              บอกเพื่อนร่วมงานหรือครับครัวว่า ห้ามสูบบุหรี่ใกล้ตัว ห้ามหยิบยื่นบุหรี่ ห้ามทิ้งบุหรี่ไว้ให้เห็น ห้ามชักชวนให้สูบบุหรี่
•              ปิดประกาศหน้าห้องว่า"เขตปลอดบุหรี่"
•              ใช้เวลาส่วนใหญ่ในที่ๆสูบบุหรี่ไม่ได้
•              หลีเลี่ยงกาแฟ สุรา อาหารรสจัด



อาการที่เกิดขึ้นจากการอดบุหรี่ และวิธีแก้ไข

1. หงุดหงิด งุ่นง่าน อยากสูบบุหรี่จนแทบคุมไม่ได้เพราะร่างกายคุณติดนิโคติน และนี่เองเป็นสาเหตุให้คุณอยากสูบบุหรี่ การแก้ไข

•              ดื่มน้ำให้มากที่สุด ดื่มบ่อยๆเพื่อชำระนิโคตินออกจากร่างกายให้หมดไปให้เร็วที่สุด
•              ออกกำลังกาย เช่นเดินเร็วๆ ปั่นจักรยาน เพื่อช่วยผ่อนคลาย เหงื่อจะช่วยขับนิโคตินออกไป
•              อาบน้ำอุ่น และถูตัวด้วยผ้าขนหนูให้ทั่วตัวจะทำให้ผ่อนคลายได้ดี
•              พูดคุยกับคนข้างเคียงที่คุ้นเคย เพื่อระบายความหงุดหงิดออกไปบ้าง
•              งดเว้นอาหารจากเนื้อสัตว์ อาหารติดมัน และอาหารรสจัดต่างๆ

2. ง่วง กระสับกระส่าย ไม่มีสมาธิในการใช้ความคิด การแก้ไข

•              นอนหลับ หรือนั่งเพื่อผ่อนคลายในห้องที่เงียบๆ ฟังเพลงเบาๆผ่อนความรู้สึกสับสนออกไป
•              งดเว้นงานที่ต้องใช้ความคิดมากๆ
•              พักร้อนหรือลาครึ่งวันเพื่อพักผ่อน

•              ดื่มนมอุ่นๆ

3. โกรธ ขุ่นเคืองง่าย การแก้ไข

•              อดทนกับอารมณ์ของตัวเอง บอกคนข้างเคียงให้ทราบ และขอร้องให้อดทน เข้าใจคุณ
•              แสดงออกในทางสร้างสรรค์ เช่นเต้นรำ เล่นกีฬา ออกกำลังกาย
•              ถ้าทนไม่ไหวให้ทุบหมอน ชกหมอน เข้าห้องน้ำตะโกนก็ช่วยได้
•              เขียนระบายความรู้สึกในสมุดบันทึก
•              คุยปัญหากับเพื่อนสนิท

4. หมดแรง ปวดศีรษะ ไอมีเสมหะ เจ็บคอ หายใจผิดปกติ บุหรี่เป็นตัวกระตุ้น เมื่อไม่ได้สูบทำให้หมดแรงเป็นธรรมดา วิธีแก้ไข

•              หากิจกรรมที่กระตุ้นความรู้สึกมีชีวิตชีวาขึ้น เช่นออกกำลังกาย เต้นรำ
•              พักผ่อนด้วยวิธีการนอนหรือออกไปสูดอากาศธรรมชาติ
•              ดื่มน้ำอุ่น หรือน้ำผลไม้จะช่วยให้ชุ่มคอ
•              รับประทานยาแก้ปวด

อาการทางกายเหล่านี้เป็นการเปลี่ยนแปลงทางเคมีเพื่อปรับตัวสู่ภาวะปกติเท่านั้น อย่าตกใจ อาการจะเป็นชั่วคราวประมาณ 72 ชั่วโมงเท่านั้น


เลิกบุหรี่แล้วดีอย่างไร?

เพราะในบุหรี่หรือยาสูบมีสารนิโคติน ซึ่งออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท-สมอง มีฤทธิ์การเสพติดสูงมาก การสูบบุหรี่ทำให้สมอง และระบบประสาทส่วนกลางได้รับสารนิโคตินรวดเร็วมากคือประมาณ 6 วินาที เร็วกว่าการได้รับยาเสพติดอื่นๆ เร็วกว่าการฉีดเฮโรอินเข้าเส้นเลือดเสียอีก

เมื่อสมองและระบบประสาทส่วนกลางได้รับสารนิโคตินอย่างรวดเร็วง่ายดายและฤทธิ์เสพติดของบุหรี่ ทำให้มีความพอใจ มีความอยากบุหรี่เมื่อระดับนิโคตินในเลือดลดต่ำลง แต่โดยที่การสูบบุหรี่ส่วนหนึ่งเป็นการติดพฤติกรรม หรือความเคยชินต่อพฤติกรรมการสูบบุหรี่ที่คุ้นเคยมาเป็นระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ยากต่อการละ-เลิก แต่ก็ไม่ยากเกินความสามารถ หากเราต้องการจะเอาชนะใจตนเองให้ได้



เลิกสูบบุหรี่แล้วดีอย่างไร?

ในสัปดาห์แรกที่เลิกสูบบุหรี่ จะมีอาการอยากบุหรี่อยู่ สัปดาห์ต่อมาอาการอยากจะน้อยลง ความอยากจะหายไปและต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จริงจัง ตั้งใจเลิกพฤติกรรมที่เคยชินต่อการสูบบุหรี่ เช่น ดื่มกาแฟ ดื่มสุรา นั่งเล่นที่โต๊ะอาหารหลังอิ่ม หากคุณคิดอยากเลิกสูบบุหรี่ คงอยากทราบว่าโดยทั่วไปมีวิธีอะไรบ้าง
1. การดูแลตัวเอง พร้อมความตั้งใจสูง กำลังใจของผู้ต้องการเลิกบุหรี่เอง และบุคคลรอบข้าง
2. การให้สุขศึกษา เข้าคลินิกอดบุหรี่ อาจเป็นกลุ่มหรือรายบุคคล
3. การใช้ยาช่วยระงับ ลด อาการเครียด เช่นยานอนหลับ
4. การใช้สารนิโคตินทดแทน ในรูปแบบต่างๆเช่นหมากฝรั่ง แผ่นแปะผิวหนังนิโคติน
5. การฝังเข็มช่วยลดอาการอยาก คลายอาการหงุดหงิด
6. รับคำปรึกษาจากแพทย์
7. การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของตนเอง
8. การใช้สื่อต่างๆสร้างพลัง-กำลังใจ การรวมกลุ่มโปรแกรมอดบุหรี่สำหรับชุมชน

เมื่อคุณเลิกบุหรี่

ร่างกายและปอดของคุณจะปลอดจากสารพิษในควันบุหรี่ ปอดจะโปร่งจากนิโคติน สารทาร์หรือน้ำมันดิน ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซและสารเคมีอื่นๆอีกหลายพันชนิด ทางเดินหายใจจะรู้สึกโล่ง สะดวกกว่าเดิมภายใน 2 สัปดาห์ เสมหะจะลดลง ลดความเสี่ยงต่อโรคติดเชื้อทางเดินหายใจ เช่นคออักเสบ หลอดลมอักเสบ เนื่องจากไม่มีควันบุหรี่ที่เป็นสารก่อระคายเคือง และเสี่ยงต่อการที่ทำให้ติดเชื้อมากขึ้น ที่สำคัญคือลดอัตราเสี่ยงต่อมะเร็งของอวัยวะต่างๆ ลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ โรคถุงลมโป่งพอง


สูบบุหรี่มือสอง


                คุณไม่สูบุหรี่แต่คุณก็มีสิทธิ์เป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ หากคุณอยู่ในสิ่งแวดล้อมที่คนสูบบุหรี่เราเรียกคนที่ได้รับบุหรี่ โดยที่ไม่ได้สูบว่า"สูบบุหรี่มือสอง" ที่มาของควันบุหรี่มาได้ 2 ทางคือ

•              ควันที่เกิดจากการเผาบุหรี่หรือซิการ์
•              ควันซึ่งเกิดจากหายใจออกของผุ้ที่สูบบุหรี่

เมื่อควันบุหรี่ถูกสูบเข้าไปและถูกหายใจออกมา ควันที่ออกมายังมีสารก่อมะเร็งเท่ากับควันที่ก่อนจะถูกสูด แทบไม่น่าเชื่อควันบุหรี่ที่เห็นเป็นควันสีขาวจะมีสารเคมีอยู่ 4000 ชนิดในจำนวนนี้กว่า 60 ชนิดเป็นสารที่ก่อให้เกิดมะเร็ง ผู้ที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่สูบบุหรี่มากและได้ควันบุหรี่มาก จะมีโอกาสเกิดโรคมากด้วย การสูบบุหรี่นั้นนอกจากจะมีผลต่อผู้สูบโดยตรงแล้วยังทำให้ผู้อื่นในบรรยากาศของควันบุหรี่สูดเอาพิษจากควันบุหรี่เข้าไปด้วย ทำให้เกิดอันตรายเช่นเดียวกับผู้สูบบุหรี่ ซึ่งผลกระทบของบุหรี่ที่มีต่อคนข้างเคียงพอสรุปได้ดังนี้

1. เด็ก การสูบบุหรี่ของคนในครอบครัวทำให้เด็กป่วยด้วยโรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม หอบหืด หูชั้นกลางอักเสบเพิ่มขึ้น และมีสมรรถภาพปอดแย่กว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่สูบบุหรี่



2. หญิงมีครรภ์ หญิงมีครรภ์สูบบุหรี่จะทำให้น้ำหนักตัวขณะตั้งครรภ์เพิ่มน้อยกว่าปกติ และมีโอกาสแท้ง คลอดก่อนกำหนด ตกเลือดระหว่างคลอดและหลังคลอดมากเป็น2เท่าของหญิงตั้งครรภ์ที่ไม่สูบบุหรี่ นอกจากนั้นยังเกิดภาวะรกเกาะต่ำและรกรอกตัวก่อนกำหนดมากขึ้นลูกที่คลอดจากแม่ที่สูบบุหร ี่อาจจะมีน้ำหนักและความยาวน้อยกว่าปกติ พัฒนาการทางสมองช้ากว่าปกติ อาจจะมีความผิดปกติทางระบบประสาท ระบบความจำ

3. คู่สมรสของผู้สูบบุหรี่ มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดมากกว่าคู่สมรสที่ไม่สูบบุหรี่ 2 เท่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคหัวใจ 3 เท่า และเสียชีวิตเร็วกว่าปกติถึง 4 ปี

4. คนทั่วไป คนทั่วไปที่ต้องอยู่ในบรรยากาศที่ผู้อื่นสูบบุหรี่ ควันบุหรี่จะทำให้เคืองตา ปวดศีรษะ คัดจมูก น้ำมูกไหล โดยเฉพาะผู้ที่มีอาการหอบหืด โรคหัวใจ โรคหลอดลมอักเสบ ก็จะทำให้อาการของโรคเพิ่มมากขึ้น

5. สูบบุหรี่มือสองทำให้เกิดมะเร็งปอด

6. การแยกที่สำหรับผู้สูบบุหรี่และไม่สูบบุหรี่สามารถลดปริมาณควันได้แต่ก็ได้รับควัน

7. การที่เด็กที่เสียชีวิตในขวบปีแรกก็มีความสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ของพ่อแม่

8. สำหรับผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่นหอบหืด หลอดลมอักเสบหากได้ควันบุหรี่ก็อาจจะทำให้อาการกำเริบ

วิธีป้องกันสูบบุหรี่มือสองที่บ้าน

•              ให้สมาชิกที่สูบบุหรี่ให้ไปสูบบุหรี่นอกบ้านโดยปรึกษากันถึงผลเสียที่จะเกิดกับเด็ก
•              ถ้าผู้สูบไม่ยอมออกนอกบ้านให้หาห้องที่ถ่ายเทอากาศดีให้เขาสูบ
•              ให้เปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท
•              สนับสนุนให้เลิกบุหรี่
•              ถ้าแขกที่มาเยี่ยมสูบบุหรี่บอกเขาว่าบ้านนี้ปลอดบุหรี่ และอย่ามีจานเขี่ยบุหรี่ไว้ในบ้าน

วิธีป้องกันสูบบุหรี่มือสองที่ทำงาน

•              ให้นายจ้างประกาศนโยบายสถานที่ปลอดบุหรี่
•              ให้จัดที่ทำงานสำหรับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ และให้ห่างไกลจากผู้ที่สูบบุหรี่
•              บอกผู้ที่สูบบุหรี่ให้ไปสูบไกลๆคุณ
•              ใช้พัดลมหรือเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเท
•              ติดป้าย"ขอบคุณที่กรุณาไม่สูบบุหรี่"ไว้ที่ทำงาน



วิธีป้องกันสูบบุหรี่มือสองในที่สาธารณะ

•              เลือกสถานที่ปลอดบุหรี่ เช่นโรงแรม ร้านอาหาร หรือรถเช่าที่ปลอดบุหรี่
•              หากมีผู้ที่สูบบุหรี่ในสถานที่ห้ามสูบให้แจ้งเจ้าหน้าให้จัดการ
•              ไม่พาเด็กไปในที่ๆมีการสูบบุหรี่

ผลเสียของการสูบบุหรี่

ถามว่าทำไมไม่เลิกมักจะได้คำแก้ตัวต่างๆกัน เช่น"ลงทุนสูบมามากแล้ว" "คนที่สูบไม่เห็นเป็นไรคนที่เลิกแล้วตายเร็ว" "เลิกบุหรี่แล้วทำให้อ้วน"   เหตุผลต่างๆนำมาแก้ตัวทั้งนั้น ความจริงคือคุณติดสารนิโคตินที่อยู่ในบุหรี่

การสูบบุหรี่จะทำร้ายตัวเอง
•              ทำให้เกิดโรคมากมายที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่
•              ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่มากมาย
•              สูญเสียทางเศรษฐกิจ เช่นเสียเงินซื้อ เสียเงินรักษาโรค หยุดงานเพราะป่วย

การสูบบุหรี่จะทำร้ายคนอื่น
•              จะทำลายสุขภาพของสมาชิกในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน
•              ทำให้เกิดโรคในเด็ก เช่นหอบหืด หูอักเสบ

คุณพร้อมหรือยังที่จะทำให้โลกสะอาดขึ้น เพื่อสุขภาพของลูกเมีย และเพื่อนร่วมงาน


            ทุกปีจะมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละ 400,000 คนหรืออาจจะมากว่านั้นแต่ละปีรัฐบาลต้องเสียงบประมาณเป็นค่ารักษาโรคที่เกิดจากบุหรี่มากมาย โทษของบุหรี่สมัยนี้มีมากว่าสมัยก่อนหลายเท่าเนื่องจากบุหรี่ปัจจุบันมีสารนิโคตินและ tar ต่ำทำให้คนสูดบุหรี่เข้าปอดให้ลึกๆ
            ผู้ที่อยู่กับผู้ที่สูบบุหรี่ก็ได้รับผลเช่นเดียวกันเราเรียกกลุ่มนี่ว่าสูบบุหรี่มือสอง ควันที่ออกจากผู้สูบบุหรี่จะมีสารที่มีขนาดเล็กสามารถเข้าปอดของผู้สูบบุหรี่มือสองผลเสียของการสูบบุหรี่ได้แก่

1.โรคหัวใจ

การสูบบุหรี่จะทำให้เกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ ผู้ที่สูบบุหรี่จะเพิ่มอัตราการเกิดโรหัวใจ 5 เท่าเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีระดับไขมัน HDL-Cholesterol(ไขมันซึ่งป้องกันหลอกเลือดแดงตีบ)ต่ำ และยังกระตุ้นระบบประสาทอัตโนมัติทำให้หัวใจและหลอดเลือดเกิดโรค ยิ่งสูบมากยิ่งมีโอกาสเกิดโรคมาก โดยเฉพาะคุณผู้หญิงที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจมากกว่าผู้ชายที่สูบบุหรี่เนื่องจาการสูบบุหรี่มีผลต่อระดับฮอร์โมน estrogen มีรายงานว่าผู้ที่สูบุหรี่มือสองเมื่ออยู่ในห้องที่สูบบุหรี่เพียงครึ่งชั่วโมงระดับของสารต้านอนุมูลอิสระในเลือดเช่นวิตามิน ซีจะมีระดับลดลง

2.โรคมะเร็ง 

ร้อยละ30ของผู้ป่วยมะเร็งจะสูบบุหรี่ ผู้ป่วยมะเร็งปอดจะสูบุหรี่ร้อยละ85 ผู้ที่สูบบุหรี่มือสองจะมีการเพิ่มขึ้นของมะเร็งปอดร้อยละ 25 ผู้ที่สูบุหรี่ที่มีไส้กรองจะมีอุบัติการณ์ของมะเร็งปอดชนิด adenocarcinoma สูงเนื่องจากผู้ป่วยจะสูดเข้าแรงมากทำให้สารก่อมะเร็งเข้าสู่ปอด ผู้ที่สูบบุหรี่ที่ใส่ menthol ก็มีโอกาสเป็นมะเร็งปอดสูง นอกจากมะเร็งปอดแล้วบุหรี่ยังก่อให้เกิดมะเร็งที่คอ ปาก หลอดอาหาร ไตกระเพาะปัสสาวะ มดลูก

3.โรคอัมพาตและสมองเสื่อม

ผู้ที่สูบบุหรี่วันละซองจะมีโอกาสเสี่ยงต่อโรคอัมพาต2เท่าครึ่งเมื่อเทียบกับคนที่ไม่สูบ และยังพบว่าปัจจัยเสี่ยงยังคงมีอยู่หลังหยุดสูบบุหรี่ 14 ปี นอกจากนั้นยังพบโรคสมองเสื่อมเพิ่มในผู้ที่สูบบุหรี่

4.โรคปอด

ปีหนึ่งจะมีผู้ที่สูบบุหรี่เสียชีวิตจากโรคถุงลมโป่งพอง ปอดบวม หลอดลมอักเสบเป็นจำนวนมาก

5.การตั้งครรภ์และทารก

ผู้ที่สูบบุหรี่วันละซองโดยเฉพาะที่เริ่มสูบตั้งแต่อายุ 18 ปีจะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรค เป็นหมัน ครรภ์นอกมดลูกและการแท้งและยังเพิ่มอัตราการตายในทารก การสูบบุหรี่จะไปลดกรดโฟลิก กรดโฟลิกจะมีส่วนช่วยป้องกันความพิการแต่กำเนิด ลูกที่เกิดจากแม่ที่สูบบุหรี่มักจะมีน้ำหนักตัวน้อยกว่าปกติ
สำหรับเด็กที่เติบโตในสิ่งแวดล้อมที่พ่อหรือแม่ที่สูบบุหรี่จะมีอุบัติการณ์การเกิดโรคหอบหืด โรคหลอดลมอักเสบ ปอดบวม เพิ่มขึ้นร้อยละ50



6.การสูบบุหรี่กับสุขภาพช่องปาก

การสูบบุหรี่สามารถทำให้โรคมะเร็งในช่องปากและโรคเหงือก โดยควันบุหรี่จะทำลายเนื้อเยื่อที่ยึดระหว่างเหงือกและฟันทำให้เหงือกร่น ทำให้ดื่มน้ำร้อนหรือน้ำเย็นจะเสียว เกิดฟันผุ ทำให้แผลหายช้า มีกลิ่นปาก มีคราบบุหรี่ติดที่เหงือกและฟัน
7.การสูบบุหรี่กับโรคกระดูกและกล้ามเนื้อ

โรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่เป็นโรคที่สามารถป้องกันได้ ผู้ที่สูบจะมีอายุสั้นกว่าผู้ที่ไม่สูบประมาณ 7-10ปี บุหรี่นอกจากจะทำให้เกิดโรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือดยังก่อให้เกิดโรคข้อและกระดูกดังนี้
•              โรคกระดูกพรุน การสูบบุหรี่จะลดเลือดที่ไปเลี้ยงกระดูก นิโคตินที่อยู่ในบุหรี่ยังลดการสร้างกระดูกและลดการดูดซึมแคลเซียมทำให้ผู้ที่สูบมีโรคกระดูกพรุน กระดูกหักง่าย
•              การสูบบุหรี่ทำให้กระดูกสะโพกหักง่ายเนื่องจากกระดูกพรุน
•              การสูบบุหรี่ทำให้เกิดการอักเสบของข้อและกระดูกจากการออกกำลังได้ง่าย มีการฉีกของเอ็นและกล้ามเนื้อ
•              การสูบบุหรี่ทำให้กระดูกที่หักต่อติดกันได้ยากและทำให้แผลหายช้า
•              การสูบบุหรี่ทำให้ประสิทธิภาพของนักกีฬาลดลงเนื่องจากการทำงานของปอดสู้ผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ไม่ได้ ผู้ที่สูบบุหรี่จะหายใจมากกว่าผู้ที่ไม่สูบ 3 ครั้ง
•              ผู้ที่สูบบุหรี่มีโรคปวดหลังมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

8.การสูบบุหรี่กับโรคทางเดินอาหาร

การสูบบุหรี่ทำให้เกิดโรคร้ายแรงมากมาย และมีการเปลี่ยนแปลงระบบต่างๆรวมทั้งระบบอาหาร โรคทางเดินอาหารที่สัมพันธ์กับบุหรี่มีดังนี้

Heartburn
หรือคนไทยเรียกร้อนใน ผู้ป่วยจะมีอาการจุกหน้าอก เกิดจาการที่บุหรี่ทำให้หูรูดที่กั้นระหว่างกระเพาะและหลอดอาหารหย่อนตัว กรดจากกระเพาะล้นเข้าไปยังหลอดอาหารทำให้เกิดการอักเสบ

Peptic Ulcer
เชื่อว่าบุหรี่ทำให้เกิดการติดเชื้อ Helicobacter pylori (H.pylori)ได้ง่าย เชื้อดังกล่าวเป็นสาเหตุของโรคกระเพาะอาหาร นอกจากนั้นการสูบบุหรี่ยังทำให้ตับอ่อนไม่สามารถสร้างด่างได้มากพอ กรดที่มาจากกระเพาะจึงมีความเป็นกรดมากจึงทำให้เกิดแผลโดยเฉพาะแผลที่ลำไส้เล็กส่วนต้น duodenal ulcer และจะหายยากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่

โรคตับ
ตับมีหน้าที่กำจัดของเสียออกจากร่างกาย มีหลักฐานว่าการสูบบุหรี่จะทำให้ความสามารถในการกำจัดของเสียลดลง